หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประวัติกรมตำรวจไทย

อ่านสักนิดก็ยังดีประวัติกรมตำรวจ 13 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันตำรวจไทย  “ตำรวจ”  ถือกำเนิดขึ้นมาในประเทศไทยยาวนานกว่าร้อยปี (ตามที่มีหลักฐานปรากฏ) ผ่านการแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป 


เพื่อให้สามารถรับใช้ประเทศชาติและพี่น้องประชาชนชาวไทยได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง สมเป็น ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ อย่างแท้จริง  ทั้งนี้ จากอดีตถึงปัจจุบัน ตำรวจ จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาจากองค์พระมหากษัตริย์ไทยเสมอมา ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ และด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระมหากษัตริย์ไทย               สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงขอรำลึกถึงพระเกียรติคุณแห่งองค์พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่ทรงมีต่อข้าราชการตำรวจและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เพื่อแสดงความจงรักภักดี และเพื่อเฉลิมพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ไทย
                สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระมหากษัตริย์ผู้วางรากฐาน ตำรวจไทย
                ในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยของพระเจ้าอู่ทอง ได้มีการจัดระบบการปกครองแบบจตุสดมภ์ พร้อมทั้งทรงแต่งตั้งตำแหน่งเสนาบดี ๔ ตำแหน่ง คือ
                ๑. ขุนเวียง           มีหน้าที่ปกครองท้องที่ ดูแลราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุข และปราบปรามโจรผู้ร้าย
                ๒. ขุนวัง              มีหน้าที่ดูแลรักษาความเรียบร้อย ภายในวัง และพิพากษาราษฎร
                ๓. ขุนคลัง           มีหน้าที่เก็บเงิน และรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน
                ๔. ขุนนา              มีหน้าที่ดูแลไร่นา และเก็บรักษาเสบียงอาหารของพระนคร
                ต่อมา ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ได้ทรงจัดระเบียบการปกครองใหม่ โดยทรงแยกทหารและพลเรือนออกจากกัน ฝ่ายทหาร มีสมุหกลาโหมเป็นหัวหน้า   ฝ่ายพลเรือน มีสมุหนายกเป็นหัวหน้า และทรงเปลี่ยนการปกครองแบบจตุสดมภ์เสียใหม่ คือ
                * เวียง   เรียกว่า   พระนครบาล
                * วัง       เรียกว่า   พระธรรมมาธิกรณ์
                * คลัง    เรียกว่า   พระโกษาธิบดี
                * นา       เรียกว่า   พระเกษตราธิการ
                ทั้งนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีกิจการตำรวจขึ้น โดยอยู่ภายใต้การดูแลของกรมเวียง และในปี พ.ศ.๑๙๙๘  สมเด็จพะบรมไตรโลกนาถ พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราศักดินาของขุนนางฝ่ายตำรวจไว้เช่นเดียวกับขุนนางฝ่ายอื่น ๆ
                นอกจากนี้ ยังมีเอกสารทางราชการสำคัญอีกหลายฉบับที่แสดงว่าบุคคลที่จะเข้ารับราชการตำรวจได้นั้น จะต้องเป็นผู้มีชาติตระกูลสืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษที่ประกอบคุณงามความดีต่อชาติ ศาสน์

-๒-

กษัตริย์ และเป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้วางพระราชหฤทัย  การบังคับบัญชาตำรวจในสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงอยู่ภายใต้พระมหากษัตริย์โดยตรง

                พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระผู้พระราชทานกำเนิด ตำรวจสมัยใหม่
                ประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๐๐-๒๔๐๕  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้พระราชปรารภว่า บ้านเมืองมักมีเหตุการณ์ โจรผู้ร้ายก่อกวนความสงบสุขของราษฎรอยู่เนือง ๆ ลำพังข้าหลวงกองจับ ซึ่งเป็นข้าราชการขึ้นกรมเมือง หรือนครบาลมิอาจสามารถระงับเหตุการณ์และปราบปรามโจรผู้ร้ายให้สงบราบคาบได้ จึงมีพระราชดำริที่จะจัดตั้งกองตำรวจเช่นเดียวกับต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ และอินเดีย และได้ทรงแต่งตั้งให้ กัปตันแซมมวล โจเซฟ เบิร์ด เอมส์ (Capt. S. J. Ames) ชาวอังกฤษ มาเป็นผู้วางโครงการจัดตั้งกองตำรวจ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เรียกว่า                    กองโปลิสคอนสเตเปิล   โดยจ้างชาวมลายูและชาวอินเดียเข้ามาเป็นพลตำรวจเรียกว่า คอนสเตเปิล       มีหน้าที่รักษาการณ์ในเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน ขึ้นอยู่กับกรมพระนครบาล ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในความเป็นปึกแผ่นของกิจการ ตำรวจสมัยต่อมา
                และเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ที่ทรงปรับปรุงกิจการตำรวจให้ทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศตะวันตกและเป็นรากฐานกิจการตำรวจในปัจจุบัน  กรมตำรวจจึงได้จัดสร้าง พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ประดิษฐานบริเวณหน้าอาคาร ๑ กรมตำรวจ เพื่อให้ข้าราชการตำรวจและประชาชนทั่วไปได้แสดงความเคารพสักการะ เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๓๔

            พระปิยมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้สร้าง ความเป็นปึกแผ่นแก่กิจการตำรวจ
                ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา พระองค์ได้ทรงพัฒนากิจการตำรวจในด้านต่าง ๆ มากมายหลายด้าน ได้แก่
                พ.ศ.๒๔๑๔ โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ กัปตันแซมมวล โจเซฟ เบิร์ด เอมส์ เป็น หลวงรัฐยาธิบาลบัญชา  และรับสั่งให้ปรับปรุงกิจการตำรวจให้เจริญก้าวหน้าขึ้น   ในปี พ.ศ.๒๔๑๘  โปรดเกล้าฯ ให้ตรา กฎหมายโปลิสรักษาพระนคร ๕๓ ข้อ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมหน้าที่ของโปลิสจึงพึงปฏิบัติและข้อบังคับการรับสมัครบุคคลเข้าเป็นโปลิสหรือตำรวจ  โดยกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับภายในภายนอกพระนคร   ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๙  ทรงจัดตั้ง ตำรวจภูธร  ขึ้นในรูป 

-๓-

ทหารโปลิส เพื่อเป็นกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในส่วนภูมิภาค และให้สามารถปฏิบัติการทางทหารได้ด้วย  แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น  กรมกองตระเวนหัวเมือง
                พ.ศ.๒๔๓๕  พระยาอรรคราชวราทร  (ภัสดา บุรณศิริ)  ซึ่งเข้ารับราชการในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมกองตะเวน  ผู้บังคับการกรมกองตระเวน หรืออธิบดีกรมพลตระเวน ตามลำดับ ท่านได้ปรับปรุงแก้ไข  ขยายหน่วยงานกิจการตำรวจให้เจริญก้าวหน้าต่อจากกัปตัน แซมมวล โจเซฟ เบิร์ด เอมส์
                พ.ศ.๒๔๔๐  รัชกาลที่ ๕ พระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้ เอ.เย.ยาดิน (Mr.A.J.Jardine)  ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมกองตระเวน เดิมเป็น ชาวอังกฤษผู้ซึ่งเคยรับราชการเป็น ผู้บังคับการตำรวจในประเทศอินเดีย ได้เข้ามารับราชการตำรวจไทยในตำแหน่งผู้ช่วย ผู้บังคับการกองตระเวน และชักชวนเพื่อนชาวอังกฤษจากอินเดียมาร่วมงาน โดยได้ปรับปรุงกิจการตำรวจให้ก้าวหน้าขึ้นตามแนวทางตำรวจอินเดีย
                พ.ศ.๒๔๔๕  รัชกาลที่ ๕  ได้ทรงลง พระปรมาภิไธยพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้จัดตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ตามความกราบบังคมทูลของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๕)  ซึ่งถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นแก่เหล่านักเรียน นายร้อยตำรวจ และข้าราชการตำรวจทุกนาย ด้วยเหตุนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงถือว่า วันที่ ๑๙ เมษายน ของทุกปี เป็นวันพระราชทานกำเนิดโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ทางโรงเรียนนายร้อยตำรวจจึงจัดสร้าง พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ประดิษฐาน ณ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดี และเพื่อเป็นที่เคารพสักการะของเหล่านักเรียนนายร้อยตำรวจ ข้าราชการตำรวจ และพสกนิกรทั่วไป
                พ.ศ.๒๔๔๗  รัชกาลที่ ๕ พระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้ มหาอำมาตย์โท อิริก เซ็นต์ เย ลอสัน (M. Eric St. Lawson) เป็นอธิบดีกรมตระเวน เดิมเป็น ชาวอังกฤษเข้ามารับราชการเป็นผู้บังคับการกรมตระเวน และได้ปรับปรุงกิจการตำรวจหลายประการ เริ่มตั้งแต่จัดตั้งกองพิเศษ ซึ่งมีระบบทำงานคล้ายกับกองสืบสวนคดีของตำรวจในลอนดอน
                พ.ศ.๒๔๕๖  รัชกาลที่ ๖ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ พลตรีพระยาวาสุเทพ (G. Schau) เป็นอธิบดีกรมตำรวจภูธร เดิมเป็นนายทหารไทย ยศร้อยเอก มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงศัลวิชานนิเทศ ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นพลตรี ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวาสุเทพ และเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ ได้โอนมารับราชการตำรวจ ในตำแหน่งเจ้ากรมกองตระเวนหัวเมือง และนับได้ว่าเป็น ผู้จัดตั้งกองตำรวจภูธร


-๔-
               
            ร.๖ พระราชทาน  เครื่องหมาย แห่งการเป็นตำรวจ
                ในปี พ.ศ.๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตราเครื่องหมายโล่กับดาบเป็นเครื่องหมาย ประจำกรมพลตระเวน  และต่อมา พ.ศ.๒๔๕๔ ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้  ตราพระแสงโล่เขน ประกอบที่มุมธงประจำกรมตำรวจภูธร อันเป็นที่มาของเครื่องหมาย ตราโล่เขน ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการเป็นตำรวจ มาจนทุกวันนี้
                ทั้งนี้ เนื่องจากกิจการตำรวจในยุคแรก ๆ นั้น ได้มีการแบ่งแยกหน้าที่ออกเป็น ๒ ส่วน  คือ กรมพลตระเวน กับกรมตำรวจภูธร  โดยกรมพลตระเวนขึ้นกับกระทรวงพระนคร รับผิดชอบดูแลพื้นที่ในเขตมณฑลกรุงเทพมหานคร อันเป็นต้นกำเนิดของตำรวจนครบาลในปัจจุบัน
                ส่วนกรมตำรวจภูธร รับผิดชอบพื้นที่หัวเมืองส่วนภูมิภาค และขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของตำรวจภูธรในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖  จึงได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศรวมกรมพลตระเวนกับกรมตำรวจภูธรเข้าเป็นกรมเดียวกัน ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๘  เรียกว่า กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน  โดยให้สังกัดกับกระทรวงพระนครบาล  ด้วยเหตุนี้จึงถือว่า  วันที่ ๑๓ ตุลาคมของทุกปีเป็นวันต้นกำเนิดของวันตำรวจ
                ทั้งนี้ กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน  ได้ถูกเปลี่ยนนามเรียกหลายครั้งหลายคราจวบจนสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น กรมตำรวจ  เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒ ก่อนจะได้รับการโอนเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในปัจจุบัน

                พ่อหลวงของปวงชนและข้าราชการตำรวจทั้งมวล
                พัฒนาการของกิจการตำรวจ ได้ดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมา ภายใต้พระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์  และยังคงได้รับเมตตาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ด้วยดีเสมอมา น้ำพระราชหฤทัยและพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงมีต่อสถาบันตำรวจ และข้าราชการตำรวจทุกนายทั่วประเทศนั้น มิอาจหาสิ่งใดเปรียบเสมอเหมือนได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมค่ายตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจพลร่มและตำรวจในถิ่นทุรกันดารในทุกภาคของประเทศ พร้อมกับพระราชทานสิ่งของเครื่องใช้และของที่ระบึกเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของบรรดาตำรวจในท้องถิ่นห่างไกล


-๕-

                นอกจากนี้ หากทรงทราบถึงพระเนตรพระกรรณว่า ขาดแคลนสิ่งใด อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ก็จะทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้จัดหามาพระราชทานในทันทีด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ กอปรกับในคราวที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ กรมตำรวจได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยตำรวจแห่งใหม่ เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัสในวาระนั้น ว่า
                โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นหลักสำคัญสำหรับบ้านเมือง เพราะประชาราษฎร์จักได้เป็นที่พึ่งในยามมีทุกข์ร้อน ก็แหละบุคคลที่จะให้ผู้อื่นเข้าพิงอาศัยได้นั้น จำเป็นต้องเป็นผู้ได้รับการศึกษาดี มีวิชาการและเป็นผู้มีศีลธรรมอันดีทุกประการ การที่รัฐบาลของข้าพเจ้าได้จัดสร้างโรงเรียนนายร้อยตำรวจขึ้น จึงเป็นการบำเพ็ญกรณียกิจที่ควรชมเชย และขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยอันประเสริฐ จงดลบันดาลให้โรงเรียนนายร้อยตำรวจแห่งนี้ สถิตสถาพร เป็นศรีสง่าแก่ประเทศชาติ และเป็นสถาบันสำคัญสำหรับให้การศึกษาวิชาการตำรวจแก่บรรดาผู้เข้าศึกษา ณ โรงเรียนแห่งนี้โดยทั่วกันเทอญ
                และเมื่อครั้งที่กรมตำรวจได้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อกิจการตำรวจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระบรมรูปในวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๑ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๕  โดยประดิษฐาน บริเวณหน้า อาคาร ๑ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ข้าราชการตำรวจและประชาชนทั่วไปได้เคารพสักการะ
                กิจการตำรวจในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ที่ถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ตำรวจไทย ก็คือการปรับโอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย จัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ เนื่องจากภารกิจหน้าที่และความรับผิดชอบของกรมตำรวจซึ่งต้องดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและสังคมทั่วประเทศ ทำให้กรมตำรวจจำเป็นต้องปรับปรุงระบบการบริหารและการจัดการเพื่อให้เกิดความคล่องตัว อันจะสามารถให้บริการประชาชนได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน ได้ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ดังนั้น กรมตำรวจ จึงได้มีการปรับปรุงโครงสร้างและระบบการบริหารงานตำรวจ โดยพิจารณานำแนวทางของตำรวจญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ ในการปรับปรุง และจากการพิจารณาร่วมกันของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง

-๖-

คณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และสำนักงบประมาณจึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโอนกรมตำรวจไปเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ๓ ประการ คือ
                ประการแรก          ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและตรวจสอบการบริหารกิจการตำรวจในรูปคณะกรรมการระดับชาติ ระดับกรุงเทพมหานคร และระดับจังหวัด
                ประการที่สอง      กระจายอำนาจ การบริหารงานไปยังหน่วยงานระดับพื้นที่ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มีเอกภาพในการปกครองบังคับบัญชา และอำนวยความยุติธรรมอย่างแท้จริง
                ประการที่สาม      ตัดทอนภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ไปให้ส่วนราชการอื่นที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง
                ด้วยเหตุผลและวัตถุประสงค์ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อ วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๑ ให้ดำเนินการปฏิรูปกรมตำรวจในระยะที่หนึ่ง โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และให้ดำเนินการปฏิรูปในระยะที่สอง โดยออกพระราชบัญญัติปรับปรุงแก้ไขงานอื่น ๆ ให้สมบูรณ์เต็มรูปแบบต่อไป  ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกา โอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ไปจัดตั้งเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๑ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๕ ตอนที่ ๗๓ก วันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๑  ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๑ เป็นต้นไป
                ต่อมาได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๗ โดยแบ่งส่วนราชการ เป็น ๒ ส่วนใหญ่ ๆ คือ
                ๑. สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
                ๒. กองบัญชาการ

 ขอขอบคุณ www.police.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

:: สนทนาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ::